วันนี้ (29 สิงหาคม พ.ศ. 2566) เวลา 09.30 น. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของภาคเอกชน ภายใต้โครงการประเมินความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ณ หอประชุม 0101 ชั้น 1 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ. โดยเชิญ กลุ่มนักลงทุน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พันธมิตรทางธุรกิจของ กทพ. เข้าร่วมประชุม ร่วมกับการประชุมทางไกล ผ่านโปรแกรม zoom

​ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า กทพ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานธุรกิจทางพิเศษและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่คับคั่งให้มีการเคลื่อนไหวที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ กทพ. มุ่งมั่นทำเพื่อรองรับและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในนามของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของภาคเอกชน ภายใต้โครงการประเมินความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และขอขอบคุณทุกท่านที่มาเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้

โดยการก่อสร้างทางพิเศษส่วนใหญ่จะเป็นทางยกระดับเกือบทั้งหมด ทำให้มีพื้นที่ใต้ทางยกระดับตลอดแนว และเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ทาง กทพ. ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ และใช้ระบบภูมิสารสนเทศเก็บข้อมูลและจำแนกการใช้พื้นที่ โดยครอบคลุมที่ดินของหน่วยงานอื่น ๆ พื้นที่ใช้ประโยชน์ และพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อไป ซึ่งการจัดงานในวันนี้เป็นโอกาสที่ดี ในการนำเสนอรายละเอียดของพื้นที่ พร้อมรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น และตอบข้อซักถามต่าง ๆ จากทุกท่านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ในเขตทางพิเศษอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กทพ. จึงได้กำหนดพื้นที่ศักยภาพที่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ 25 พื้นที่ ทั้งแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่ศักยภาพในเมือง พื้นที่ศักยภาพชานเมือง และพื้นที่เตรียมพร้อมรองรับสู่การติดตั้ง EV Station ภายใต้โครงการประเมินความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์” เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ในเขตทางพิเศษอย่างเหมาะสม

“นอกเหนือจากพื้นที่ที่นำเสนอวันนี้แล้ว การทางพิเศษฯ ยังคงมีพื้นที่ศักยภาพทั้งในเมืองและชานเมืองตามแนวเขตทางพิเศษที่เปิดให้บริการในปัจจุบันอีกหลายบริเวณ ซึ่งหลังจากหมดสัญญากับผู้เช่ารายเดิม และมีความชัดเจนของการพัฒนาพื้นที่เกี่ยวเนื่องโดยรอบ ก็จะได้นำมาเปิดประมูล หรือร่วมลงทุนต่อไป ภายในปี 2571 ทั้งนี้ปัจจุบัน จากพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 3,000 ไร่ การทางพิเศษฯ นำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์แล้วร้อยละ 37.74 และใช้เชิงพาณิชย์ร้อยละ 9 จึงยังมีพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาได้อีกมากกว่าร้อยละ 53 ซึ่งการทางพิเศษฯ มีเป้าหมายเพิ่มการนำพื้นที่ศักยภาพมาดำเนินการพัฒนาเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ควบคู่สาธารณประโยชน์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ทั้งนี้ยังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่ตามแนวเขตทางพิเศษของโครงการทางพิเศษสายใหม่ ๆ ในอนาคต ที่ดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษของการทางพิเศษฯ ซึ่งจะครอบคลุม ทั้งในกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาค เช่น ภูเก็ต และสมุย อีกด้วย” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด