พม. โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ ทำบุญในวาระก้าวเข้าสู่ปีที่ 9  พร้อมเดินหน้านโยบายสร้างสังคมสูงวัยพลังบวก DOP STRONG

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และนางสาวบุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง พม. และข้าราชการเจ้าหน้าที่ ร่วมถวายเครื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิประจำกระทรวง พม. และทำบุญเนื่องในวาระก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 กรมกิจการผู้สูงอายุ พร้อมเดินหน้าให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกัน เป็นพลังของสังคม และผลักดันนโยบายสร้างสังคมสูงวัยพลังบวก รวมทั้งส่งเสริมจริยธรรมนำองค์กร : 9 ปี ดอกลำดวนบาน สานพลัง ชาว ผส. และนโยบายไม่รับของขวัญของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)

นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ก่อตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การจัดสวัสดิการและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ โดยการนำเสนอนโยบาย การพัฒนางานวิชาการด้านมาตรการ กลไกองค์ความรู้ และนวัตกรรมในการปฏิบัติงานการส่งเสริมและสนับสนุนในเชิงวิชาการและการปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากวันที่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เป็นความมุ่งมั่นของผู้บริหาร ข้าราชการเจ้าหน้าที่ที่จะทำให้ประชาชนผู้สูงอายุ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุกมิติ โดยได้มีแนวทางในการทำงานขับเคลื่อนในระดับนโยบายที่สำคัญ อาทิ การขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุเป็น Active Ageing (Healthy, Security , Participation) มี 10 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1) การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2) ส่งเสริมการมีงานทำและมีรายได้ของผู้สูงอายุ 3) ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4) ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ 5) ธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย 6) การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่เตรียมความพร้อมในทุกมิติ 7) ยกระดับความร่วมมือ เสริมสร้างพลังสังคมสูงอายุ 8) การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้านผู้สูงอายุ 9) ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและ 10) พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุ นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนมาตรการสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ ประกอบด้วย สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนการขับเคลื่อนในแต่ละมิติ รวมทั้งได้มีการขับเคลื่อนแผนงาน บูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ

นอกจากนี้กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้มีแนวทางในการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ภายใต้แนวคิด “ร่วมแรง ร่วมใจ ผู้สูงวัย กาย ใจ เบิกบาน” 2,026 แห่ง ตอบสนองความต้องการผู้สูงอายุและชุมชน โดยมีกิจกรรมที่สำคัญภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย การถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ส่งเสริมความรู้สุขภาพ ตรวจสุขภาพ ออกกำลังกาย โภชนาการ และการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย เป็นต้น ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีการส่งเสริมให้มีกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ 2,393 แห่ง เพื่อสื่อสารสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้อย่างเหมาะสม การส่งเสริมให้ประชากรวัยก่อนผู้สูงอายุได้มีการเตรียมความพร้อมประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยดำเนินการร่วมกับ 5,000 เครือข่าย อาทิเครือข่ายด้านผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน องค์กรสมาคมต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมพลัง “บวร” ส่งเสริมการมีรายได้ ฝึกทักษะอาชีพ จ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีการพัฒนาและส่งเสริมการตลาด 3,500 คน ส่งเสริมแรงงานนอกระบบและการประกอบอาชีพอิสระ โดยการให้กู้ยืมเงินประกอบอาชีพกับผู้สูงอายุ 107,533 คน สนับสนุนการจัดกิจกรรมในชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนชมรม องค์กร และเครือข่ายผู้สูงอายุ ในการจัดกิจกรรมผู้สูงอายุในชุมชน 2,628 โครงการ เป็นต้น รวมทั้งมีแนวทางในการส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ อาทิ การผลักดันให้เกิดมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุ ประกอบด้วย มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ มาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 3 หลักสูตร (หลักสูตร 18 ชั่วโมง หลักสูตร 70 ชั่วโมง หลักสูตร 420 ชั่วโมง) และมาตรฐานผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันส่งเสริมให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ (อพมส.) มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุและเป็นกลไกที่สำคัญในชุมชนเพื่อชี้เป้า เฝ้าระวังและป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดกับผู้สูงอายุ รวมถึงการดูแลสิทธิสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยปัจจุบันมีจำนวน 57,299 คน รวมทั้งได้มีการสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะยากลำบาก 116,117 คน การปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย(ซ่อมบ้าน) 28,244 แห่ง การเสริมสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 99 แห่ง การสนับสนุนการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี 461,645 ราย รวมทั้งมีพัฒนาการบริการ Digital Service ด้านผู้สูงอายุ Mobile Application ชื่อว่า “GOLD Application by DOP” ซึ่งให้การบริการ 7 บริการ ได้แก่ บริการสินค้าผู้สูงอายุออนไลน์ทั่วประเทศ และมีสินค้ามากกว่า 300 รายการ บริการสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ที่พักสำหรับผู้สูงอายุ บริการให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ บริการให้เงินสนับสนุนโครงการของกองทุนผู้สูงอายุให้กับองค์กรเครือข่ายและชมรมผู้สูงอายุ บริการธนาคารเวลา (Time Bank) เป็นระบบบริการฝากถอนเวลาของจิตอาสาที่ทำประโยชน์ บริการหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นเบื้องต้น จำนวน 18 ชั่วโมง ผ่านระบบออนไลน์ บริการยื่นขอรับสิทธิและสวัสดิการของกรมกิจการผู้สูงอายุออนไลน์ 3 บริการ ได้แก่ การสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก การสงเคราะห์ในการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี และการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก (ซ่อมบ้าน) และได้มีการยกระดับศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการดูแลผู้สูงอายุวิถีใหม่ โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและการทำงานเชิงรุกร่วมกับเครือข่าย เพื่อการพัฒนาความรู้และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของผู้สูงอายุและคนทุกช่วงวัย

นางสาวชวนขม จันทะวงษ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ได้กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า พม.โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ขอขอบพระคุณเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา อาสาสมัครและประชาชนที่ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนภารกิจการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี จิตอาสา กำลังกาย กำลังปัญญา ฯลฯ ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท และมุ่งมั่น โดยมีเป้าหมายสร้างสังคมสูงวัย พลังบวก เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงตน ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมให้มีความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป