นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) มอบนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจําปี 2566 สู่การปฏิบัติ สำหรับผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ นโยบายและแผน และการตรวจราชการ ณ ห้องประชุม Asawin Grand C โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี โรคระบาดใหม่อย่างโควิด – 19 สภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งการก้าวสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ประกอบกับโลกในยุคผันผวน หรือ VUCA World ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวน ไม่แน่นอน สลับซับซ้อน และคลุมเครือ ล้วนเป็นสถานการณ์และความท้าทายในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง พม. ในอนาคต อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ที่มีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในมิติที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) เด็กและเยาวชน จำนวน 19,727,487 คน โดยมีอัตราการเกิดลดต่ำจนน้อยกว่าอัตราการตาย ภาวการณ์เจริญพันธุ์โดยรวมต่ำ และอัตราการมีบุตรน้อยลง 2) สูงอายุ จำนวน 12.5 ล้านคน โดยมีแนวโน้มเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) 3) สตรี จำนวน 33,960,884 คน ซึ่งมากกว่าผู้ชาย 1.6 ล้านคน และมีสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้หญิงยังคงมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานน้อยกว่าผู้ชาย 4) ครอบครัว จำนวน 27,709,635 ครัวเรือน โดยครอบครัวเดี่ยวมีสัดส่วนสูงขึ้น การสมรสมีแนวโน้มลดลง การหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การตั้งครรภ์ ไม่พร้อมที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวตามมา 5) คนพิการที่มีบัตรประจำตัว จำนวน 2,138,155 คน ซึ่งคาดว่าในอนาคตคนพิการจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และ 6) กลุ่มเปราะบาง จำนวน 4,104,450 ครัวเรือน มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ตามยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ 2566 – 2570) ตามหมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอและเหมาะสม หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายจุติ ไกรฤกษ์) “ความสุขของประชาชนคือความสำเร็จของ พม.” และวิสัยทัศน์กระทรวง พม. “ประชาชนเข้าถึงโอกาส และการคุ้มครองทางสังคม มีความมั่นคงในชีวิต” โดยมุ่งขับเคลื่อนภารกิจกระทรวง พม. ด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 10 นโยบายพุ่งเป้า 7 โครงการสำคัญ (Flagship Project) หรือเรียกว่า 4 – 10 – 7 ประกอบด้วย 1) 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.1) พัฒนาศักยภาพคนและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวอย่างยั่งยืน 1.2) สร้างโอกาสและยกระดับการคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกช่วงวัย 1.3) พัฒนาทุนทางสังคม สร้างการมีส่วนร่วมเสริมเศรษฐกิจฐานราก สู่การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน และ 1.4) มุ่งพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถนะและผลสัมฤทธิ์สูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล 2) 10 นโยบายพุ่งเป้า ได้แก่ 2.1) การพัฒนาเด็กและเยาวชน 2.2) การพัฒนาสตรี ครอบครัว 2.3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2.4) การพัฒนาสังคมสูงวัยคุณภาพ 2.5) การพัฒนากลุ่มคนไร้ที่พึ่ง 2.6) การเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย 2.7) การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน 2.8) การยกระดับการคุ้มครองทางสังคม 2.9) การพัฒนาเครือข่าย อาสาสมัคร และหุ้นส่วนสังคม และ 2.10) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า และ 3) 7 โครงการสำคัญ (Flagship Project) ได้แก่ 3.1) พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน 3.2) ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย 3.3) สร้างโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ 3.4) สังคมไทยไร้ความรุนแรง 3.5) สารพลังเครือข่าย เพื่อเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาสังคม 3.6) พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกช่วงวัย และ 3.7) พม. NEXT (Next Gen , Next Level) ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้หัวหน้าหน่วยงานในทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องนำนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง พม. ประจำปี 2566 ไปสังเคราะห์และนำสู่การปฏิบัติตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์และการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในทุกมิติ