กรมควบคุมมลพิษ หนุน PRO-Thailand Network เสริมแกร่งการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน เพื่อเดินหน้าโรดแมปการจัดการขยะของประเทศไทย

 

กรุงเทพฯ 9 พฤษภาคม 2567 : กรมควบคุมมลพิษเดินหน้าผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) พร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชน พัฒนาเครื่องมือและมาตรการสนับสนุน เพื่อทดลองการดำเนินงานภายใต้องค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Producer Responsibility Oraganization) เรียนรู้กระบวนการเก็บรวบรวมและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทั้งกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าและไม่มีมูลค่า ให้เกิดการนำไปรีไซเคิลหรือจัดการอย่างยั่งยืน

ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในปี 2564 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 24.98 ล้านตัน เป็นปริมาณ ขยะมูลฝอยที่ถูกคัดแยกและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 7.89 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 9.28 ล้านตัน ดังนั้น จึงมีขยะมูลฝอยกว่า 7.81 ล้านตันที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงปริมาณขยะมูลฝอย ที่ถูกเก็บขนมากำจัดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ด้วยประชาชนไม่มีการคัดแยกขยะ

ทำให้ต้องเสียงบประมาณเก็บขนและบางส่วนเกิดการปนเปื้อนจึงต้องทิ้งเป็นภาระต่อระบบกำจัด

นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “เป้าหมายการจัดการขยะของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษมีการจัดการปัญหาขยะของประเทศด้วยมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดการเกิดขยะที่แหล่งกำเนิด การเพิ่มศักยภาพในการจัดการขยะเพื่อหมุนเวียนทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เช่น เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ PRO – Thailand Network จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการช่วยจัดการปัญหาบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว โดยเน้นการคัดแยกและการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อส่งกลับไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ”

กรมควบคุมมลพิษตระหนักดีว่าการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วโดยการขับเคลื่อนของภาคเอกชนนั้น จะมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้ต้องมีแรงสนับสนุนทางด้านกฎหมายจากภาครัฐ ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษ จึงได้จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของประเทศไทย ภายใต้หลักการ Extended Producer Responsibility หรือ หลักการ EPR ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางคือการออกแบบ จนถึงปลายทางคือการกำจัดหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง โดยหลักการ EPR เป็นหลักการที่ใช้อย่างแพร่หลายและทำให้การจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประสบความสำเร็จ

ในหลายประเทศ แต่การนำหลักการ EPR มาใช้ก็จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ทางกรมควบคุมมลพิษจึงเปิดโอกาสให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมมือกันพัฒนากฎหมาย EPR ที่เหมาะสมและสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า “ทางกรมฯ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาเครื่องมือและมาตรการสนับสนุนเพื่อทดลองการดำเนินงานโมเดลองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Producer Responsibility Oraganization) ในรูปแบบแซนบ๊อกซ์ (Sandbox) ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการเก็บรวบรวมและการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ที่่ใช้แล้ว ทั้งในกลุ่มบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่มีมูลค่า สามารถขายได้ เช่น ขวดพลาสติก PET, กระป๋องอะลูมิเนียม, ขวดแก้ว และในกลุ่มบรรจุภัณฑ์

หลังการบริโภคที่ไม่มีมูลค่า เช่น กล่องเครื่องดื่มยูเอชที ซองขนม ถุงน้ำยาชนิดเติม เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือจัดการ อย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบัน กรมฯ ได้มีการหารือและประสานงานกับภาคเอกชนที่รวมตัวกันด้วยความสมัครใจจัดตั้ง “องค์กรเครือข่ายจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือ PRO-Thailand Network ”เพื่อบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว

อย่างเป็นระบบ นำทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้ศึกษารวมจากต่างประเทศมาสู่การลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในบริบท

ของประเทศไทย เรียนรู้จากหน้างานจริง ร่วมมือและแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่า ของแต่ละบรรจุภัณฑ์”

ด้านคณะผู้บริหารของ PRO – Thailand Network กล่าวว่า “การทำงานของ PRO-Thailand Network มุ่งเน้นการจัดการตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นทาง คือ การออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงปลายทาง คือ การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากภาคประชาชน เพื่อนำไป

รีไซเคิลหรือแปรรูปนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยดำเนินการผ่านโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิ

การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน หรือมูลนิธิ 3R นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและภาคเอกชนอื่น ๆ ในช่วงที่ยังเป็นการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตด้วยความสมัครใจ (Voluntary EPR) เพื่อศึกษาและพัฒนาองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือ PRO ของประเทศ รวมถึงพัฒนา (ร่าง) กฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนที่ใช้งานได้จริง”

โครงการนำร่องของ PRO – Thailand Network ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 โดยเน้นที่การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค 3 กลุ่ม คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนหลายชั้น หรือ Multilayer Packaging (MLP) เช่น ซองขนม ถุงน้ำยาเติม ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีของการดำเนินโครงการ สามารถเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทขวดพลาสติก PET ได้ 40,134.15 ตัน กล่องเครื่องดื่ม UBC 466.14 ตัน และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนหลายชั้น หรือถุง MLP 1,178.56 ตัน ที่สำคัญ PRO-Thailand Network ยังได้ทำงานร่วมกับโรงงานงานรีไซเคิลมากถึง 13 แห่งทั่วประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการทำงานของสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า พร้อมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในวงกว้างเกิดความตระหนักรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน

“โมเดล PRO ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักการ EPR การทำงานของ PRO – Thailand Network จึงนับว่าเป็นอีกความหวังของการพัฒนาโมเดลการทำงานของ PRO ประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคเพื่อส่งกลับไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่อย่างยั่งยืน” นางกัญชลีฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

——————————————

เกี่ยวกับ PRO-Thailand Network:

เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ PRO – Thailand Network ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2562 จากการรวมกลุ่มโดยสมัครใจของภาคเอกชน อาทิ ผู้เป็นเจ้าของตราสินค้า ผู้ผลิตสินค้า และผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด ซึ่งต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมีนโยบายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนในระดับโลก

ต่างตระหนักร่วมกันถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของภาคประชาชน จึงให้ความสำคัญเรื่องการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคอย่างถูกต้องและยั่งยืน โดยยึดหลักการเรื่อง “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR)” เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นทางการออกแบบ ไปจนถึงปลายทางการเก็บกลับ การรีไซเคิล ตลอดจนการกำจัดการซากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy)

 

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PRO-Thailand Network ได้ที่ Facebook: PRO-Thailand Network https://web.facebook.com/prothailandnetwork”

 

รายชื่อคณะผู้บริหาร PRO-Thailand Network

นายวิกเตอร์ หว่อง ผู้จัดการทั่วไป

บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด และรองประธานฝ่ายธุรกิจแฟรนไชส์

ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี

นายอชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด

นางสาวรัตนศิริ ติลกสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ

บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

นายอินเยส คอร์ทเฮ้าส์ กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

นางสาวนาริฐา วิบูลยเสข ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจน้ำดื่ม อินโดไชน่า

บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

นายสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเวียดนาม

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด

นายวัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา

บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด