สกสว. จัดการประชุมระดมความเห็นการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุน ววน. สู่จุดมุ่งเน้นที่สำคัญของ Creative economy และ soft power หนุนสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง
วันที่ 1 พศจิกายน 2566 — สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมระดมความเห็นการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อกำหนดทิศทางและจุดมุ่งเน้นที่สำคัญของ Creative economy และ soft power ที่ประเทศไทยมีโอกาสและมีศักยภาพ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ให้เป็นไปอย่างมีทิศทางเชิงกลยุทธ์ นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยได้รับเกียรติจาก คุณสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรี ผู้แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) เป็นประธานเปิดงานโดยมี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศไทย และความคาดหวังต่อการสนับสนุนจาก ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ โรงแรม Eastin Grand Hotel Phayathai กรุงเทพ ฯ
ในโอกาสนี้ คุณสุชาดา แทนทรัพย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม นอกจากนี้ยังได้มีการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power เดินหน้า นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power หรือ OFOS และมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล บูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยไปสู่นานาประเทศ
กระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยมีนโยบายมุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ทำให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ ให้กับประชาชนและกับประเทศโดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม
“ตามนโยบายของ กระทรวง อว. มุ่งเน้นในการเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรมและพัฒนาประเทศ เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ อว. ต้องการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการนำนวัตกรรม เครื่องมือและองค์ความรู้ที่ทันสมัยมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดย อว. จะสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญ ของประเทศ โดยมีหลักการสำคัญ คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” ให้เอกชนผู้ที่จะใช้ประโยชน์เป็นผู้กำหนดทิศทาง ว่าควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของ อว. จะเข้าไปดำเนินการและสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง พร้อมปลดล็อกระเบียบ ข้อจำกัดต่าง ๆ นอกจากนี้ อว. จะมุ่งส่งเสริมการสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน สตาร์ตอัพ SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่” คุณสุชาดา กล่าวสรุป
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้การสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศบนฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับการนำความคิดสร้างสรรค์และทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับฐานทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดสู่การผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ รวมถึงจัดให้มีกลไก มาตรการต่าง ๆ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์
สกสว. ในฐานะหน่วยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้มีการจัดทำแผนงานการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสร้างมูลค่าจากการขายสินค้าและบริการจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้จัดการประชุมระดมความเห็น การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ในครั้งนี้ เพื่อกำหนดทิศทางและจุดมุ่งเน้นที่สำคัญ ในการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จากการต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
“สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน”