นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เรื่อง “พลังเครือข่ายจากแผนสู่ผล” เพื่อขับเคลื่อนการยุติความรุนแรงต่อสตรี และเด็ก “Unite all Units from Mission to Action to Stop Violence Against Woman and Child” ภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” โดยมี นางสาวศิริพร ไชยสุต นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวรายงาน ซึ่งจัดโดย กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ และเครือข่ายองค์กรสตรี อีกทั้งร่วมแสดงความยินดีกับนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสหภาพรัฐสภา (IPU Executive Committee) นอกจากนี้ มีการเสวนา เรื่องกระบวนการยุติธรรมและความร่วมมือในการยุติความรุนแรง โดยมี นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ
นายจุติ กล่าวว่า ด้วยองค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) เป็นต้นมา ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐในการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรณรงค์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ที่ส่งกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง และกระตุ้นให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ยุติความรุนแรง ทั้งนี้ จึงได้ร่วมมือกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ และเครือข่ายองค์กรสตรี จัดโครงการรณรงค์ เรื่อง “รวมพลังเครือข่ายจากแผนสู่ผล” เพื่อขับเคลื่อนการยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก “Unite all Units from Mission to Action to Stop Violence Against Woman and Child” ภายใต้แนวคิด “R-E-S-P-E-C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมและบทบาทหน้าที่ ระดมความคิด ปลูกจิตสำนึกและทัศนคติ เพื่อหาแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม และสร้างความตระหนัก ร่วมรณรงค์ รวมพลังเป็นเครือข่าย ในการต่อต้านและขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบให้ลดน้อยลง เพื่อป้องกันและคุ้มครองเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ให้ปราศจากการกระทำความรุนแรง รวมทั้งส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งและสังคมสงบสุข เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. มีความตระหนักถึงความสำคัญของสตรี เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งประเทศคือสตรี ซึ่งวันนี้ทำให้เห็นว่าทั้งรัฐบาล ภาคประชาสังคม และประชาชน สามารถร่วมมือกันปลดปล่อยสิ่งเหนี่ยวรั้ง ข้อกีดขวาง ที่คอยปิดกั้นพลังของสตรี ดังนั้น การจัดงานในวันนี้ เป็นเครื่องเตือนใจว่าทุกวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งเราควรรณรงค์ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงปีละ 1 วัน ซึ่งกระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายด้านสตรีที่ทำงานให้กับสังคม ด้วยการให้ความรู้และทักษะให้กับสตรีในการคุ้มครองสิทธิ รักษาสิทธิ และป้องกันสิทธิ ของทั้งตนเองและครอบครัว อีกทั้งการส่งเสริมให้สตรีมีบทบาททางสังคมและการเมืองมากขึ้น คือให้รู้จักคำนึงถึงกฎหมายและกฏระเบียบที่เกี่ยวกับสตรีที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตต่อสังคม ซึ่งสตรีควรมีบทบาทด้านการเสนอความคิดและเสนอแนะต่อสังคม เป็นการเพิ่มบทบาทของสตรีในสังคมไทย และเราต้องช่วยกันส่งเสริมเพื่อสตรีจะได้มีบทบาทที่สูงมากขึ้น ช่วยกำหนดสังคมและชะตาชีวิตของตัวเองได้
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ตนรู้สึกดีใจที่ได้เห็นสตรีเป็นอัยการสูงสุด ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีสตรีที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง ถ้าทุกท่านไม่ให้โอกาส ไม่สร้างโอกาส ให้กับสตรีได้ทำคุณประโยชน์กับประเทศชาติ จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ตนในฐานะ รมว.พม. พร้อมส่งเสริมและปลุกปั้นให้สตรีมีความหมายในมิติของสังคมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้พลังสตรียังไม่ได้รับการปลดปล่อยเท่าที่ควร ซึ่งตนเชื่อว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อย่างมาก ถ้าเราสามารถให้โอกาส สร้างโอกาส ให้สตรีเข้ามามีบทบาทในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เพราะตนเชื่อว่าพลังของสตรีจะช่วยสร้างพลังบวกให้โลกได้ และเราจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อสตรีต่อไป